หอการค้านี้จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 และอยู่ในการควบคุมดูแลของหน่วยงานทะเบียนหอการค้าจังหวัดสงขลา
หมวดที่ 1 บทความทั่วไป
ข้อ 1. ชื่อของหอการค้า หอการค้ามีชื่อว่า “ หอการค้าจังหวัดสงขลา ” เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “ THE SONGKHLA CHAMBER OF COMMERCE ’’ และเขียนเป็นภาษาจีนว่า “ 宋卡府總商會 ” คำว่า “ หอการค้า ” ต่อไปนี้ ในข้อบังคับให้หมายถึง “ หอการค้าจังหวัดสงขลา ”
ข้อ 2. สำนักงานที่ตั้งของหอการค้า ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 29 ถนนโชติวิทยะกุล 4 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โทร. 074 – 246583, 074 – 246388
โทรสาร 074 – 429400
ข้อ 3. ตราของหอการค้า ตราของหอการค้านี้มีเครื่องหมายเป็นรูปโล่ ด้านในมีรูปเรือสำเภาหัวเป็นพญานาค ที่ใบเรือเป็นรูปหอยสังข์ มีพื้นน้ำอยู่ด้านล่าง ด้านซ้ายมือมีอักษรภาษาไทยว่า “ หอการค้าจังหวัดสงขลา ” ด้านขวามือมีอักษรภาษาอังกฤษว่า ” THE SONGKHLA CHAMBER OF COMMERCE “
หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์
ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของหอการค้า หอการค้านี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
4.1 ส่งเสริมวิสาหกิจต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในทางการค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงิน และเศรษฐกิจในเขตจังหวัดสงขลา เช่น รวบรวมสถิติเผยแพร่ข่าวสารการค้าวิจัยเกี่ยวกับการค้าและเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการกีฬา MICE City , Sport City และ Smart City และธุรกรรมใด ๆ ที่จะสร้างความเจริญเติบโตให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของจังหวัดสงขลา การรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า การวางมาตรฐานแห่งคุณภาพของสินค้า การตรวจสอบมาตรฐานสินค้า จัดตั้งและดำเนินการสถานการศึกษาที่เกี่ยวกับการค้า และเศรษฐกิจพิพิธภัณฑ์สินค้า การจัดงานแสดงสินค้าการเป็นอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาททางการค้า
4.2 รับปรึกษา และให้ข้อแนะนำแก่สมาชิกเกี่ยวกับการค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงิน หรือเศรษฐกิจ และช่วยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจของสมาชิก
4.3 ให้คำปรึกษา และเสนอข้อแนะนำแก่หอการค้าไทย และรัฐบาลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
4.4 ประสานงานในทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการค้ากับทางราชการ
4.5 เพื่อช่วยเหลือ และส่งเสริมการกุศล และสาธารณะสงเคราะห์
4.6 ปฏิบัติกิจกรรมอื่น ๆ ตามแต่จะมีกฎหมาย ระบุให้เป็นหน้าที่ของหอการค้า หรือตามที่ทางราชการมอบหมาย
4.7 ไม่ประกอบกิจการค้า หรือไม่ดำเนินการทางการเมืองอย่างใดทั้งสิ้น
หมวดที่ 3 สมาชิกและสมาชิกภาพ
ข้อ 5 ประเภทสมาชิก สมาชิกของหอการค้า แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์
ข้อ 6 คุณสมบัติของสมาชิก
6.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดาสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทยเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นเกินกึ่งจำนวนทุนของนิติบุคคลนั้นและประกอบวิสาหกิจในทางการค้า
อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงิน หรือเศรษฐกิจ หรือเป็นรัฐวิสาหกิจ สหกรณ์กลุ่มเกษตรกร หรือสมาคมการค้าที่สมาชิก ซึ่งมีสัญชาติไทยเกินกึ่งจำนวนทั้งหมดซึ่งมีภูมิลำเนา หรือที่ตั้งสำนักงานอยู่ในเขตจังหวัดสงขลา
6.2 สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับสมาชิกสามัญ แต่ไม่ประสงค์ จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกสามัญ
6.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการะคุณแก่หอการค้า ซึ่งคณะกรรมการของหอการค้ามีมติให้เชิญเข้ามาเป็นสมาชิก และบุคคลนั้นตอบรับคำเชิญ
ข้อ 7 คุณลักษณะของผู้ที่จะเป็นสมาชิก นอกจากมีคุณสมบัติตามกำหนดไว้ในข้อ 6 แล้วผู้จะเข้าเป็นสมาชิกของหอการค้ายังจะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะดังต่อไปนี้ คือ
7.1 ในกรณีเป็นบุคคลธรรมดา
7.1.1 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ
7.1.2 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือบุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ ความสามารถ
7.1.3 ไม่เคยเป็นบุคคลที่เคยต้องโทษจำคุก โดยคำพิพากษา ถึงที่สุดของศาลมาก่อน เว้นแต่ความผิดที่มีกำหนดโทษขั้นลหุโทษหรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท ทั้งนี้เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจาก คณะกรรมการของหอการค้าเป็นกรณีพิเศษ
7.1.4 ไม่เป็นโรคอันพึงรังเกียจแก่สังคม
7.1.5 เป็นผู้มีฐานะมั่นคงพอสมควร
7.1.6 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
7.2 ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
7.2.1 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
7.2.2 มีฐานะมั่นคงพอสมควร ให้นำความใน (1) บังคับแก่คุณลักษณะของผู้แทนนิติบุคคลที่ได้รับแต่งตั้ง ให้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล ที่เป็นสมาชิกตามข้อ 11 ด้วย
ข้อ 8 การสมัครเข้าเป็นสมาชิก ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกสามัญ หรือวิสามัญ หรือสมาชิกสมทบของหอการค้าจะต้องยื่นความจำนงต่อเลขาธิการหอการค้า หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการหอการค้า ตามแบบพิมพ์ที่หอการค้าได้กำหนดไว้โดยมีสมาชิกสามัญของหอการค้าเป็นผู้รับรองอย่างน้อย 2 คน
ข้อ 9 การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก ให้เลขาธิการหอการค้ากรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการหอการค้า นำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการของหอการค้าในคราวต่อไป ครั้งแรกหลังจากที่ได้รับใบสมัคร เมื่อคณะกรรมการหอการค้ามีมติให้รับหรือไม่รับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิกแล้ว ให้เลขาธิการหอการค้ามีหนังสือแจ้งให้ผู้สมัครผู้นั้นทราบภายในกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้ลงมติ หนังสือแจ้งดังกล่าวในวรรคแรกจะต้องจัดส่งเป็นจดหมาย ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ณ ที่อยู่ของผู้สมัครที่ปรากฏอยู่ในใบสมัคร ในกรณีที่มีมติให้รับผู้สมัครจะต้องชำระค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก และค่าบำรุงหอการค้า ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าว
ข้อ 10 วันเริ่มสมาชิกภาพ ภายใต้บังคับแห่งความใน ข้อ 9. วรรคท้าย สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก และค่าบำรุงประจำปีของหอการค้าเรียบร้อยแล้ว
ข้อ 11 สมาชิกที่เป็นนิติบุคคล สมาชิกที่เป็นนิติบุคคลที่จะต้องแต่งตั้งผู้แทนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ที่มีอำนาจเต็มกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นได้ไม่เกิน 1 คน เพื่อปฎิบัติการในหน้าที่และใช้สิทธิแทนนิติบุคคลนั้น ในการนี้ผู้แทนจะมอบหมายให้บุคคลอื่น กระทำการแทน หรือแต่งตั้งตัวแทนช่วงมิได้ ผู้แทนนิติบุคคล ในวรรคแรกจะต้องมีนิติสัมพันธ์กับนิติบุคคลนั้น ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำกัด หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ จดทะเบียนหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณี บุคคลเดียวกันจะเป็นผู้แทนที่มีอำนาจเต็มของสมาชิกเกิน 1 รายมิได้
ข้อ 12 การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
12.1 ตาย (เว้นแต่ผู้แทนสมาชิกตามข้อ 11 ตายหรือสิ้นสภาพนิติบุคคล)
12.2 ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6.1 หรือ 6.2 แล้วแต่กรณี
12.3 ลาออก โดยยื่นหนังสือลาออก ต่อคณะกรรมการของหอการค้าและได้ชำระหนี้สินที่ค้างชำระแก่หอการค้าเรียบร้อยแล้ว
12.4 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย
12.5 ถูกศาลสั่งให้เป็น บุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
12.6 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเว้นแต่เป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่กำหนดโทษ ขั้นลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
12.7 คณะกรรมการของหอการค้า ลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า สามในสี่ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้
12.7.1 เจตนากระทำการใด ๆ ที่ทำให้หอการค้าเสื่อมเสียชื่อเสียง
12.7.2 เจตนาละเมิดข้อบังคับ
12.7.3 ไม่ชำระเงินค่าบำรุงประจำปี และได้รับใบเตือนจากเจ้าหน้าที่ครบ 30 วัน แล้วโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร
ข้อ 13 ทะเบียนสมาชิก ให้นายทะเบียนหอการค้าจัดทำทะเบียนสมาชิกเก็บไว้ ณ สำนักงานหอการค้า โดยมีรายการตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 ได้กำหนดไว้
หมวดที่ 4 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
ข้อ 14 สิทธิของสมาชิก
14.1 ได้รับความช่วยเหลือ และการสงเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของหอการค้าเท่าที่จะอำนวยได้
14.2 เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำ ต่อหอการค้าหรือคณะกรรมการของหอการค้า
14.3 ในเรื่องใด ๆ อันอยู่ในวัตถุประสงค์ของหอการค้าเพื่อนำมา ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของหอการค้า
14.4 ขอตรวจสอบกิจการ และทรัพย์สินของหอการค้า ได้โดยทำเป็นหนังสือขึ้นต่อเลขาธิการหอการค้า หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการหอการค้า
14.5 เข้าร่วมประชุม อภิปรายแสดงความคิดเห็น ซักถามกรรมการเสนอญัตติในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือในการประชุมใหญ่วิสามัญ
14.6 มีสิทธิประดับเครื่องหมายของหอการค้า และถือบัตรสมาชิกของหอการค้า
14.7 สมาชิกสามัญเท่านั้น มีสิทธิ์ในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือที่ประชุมใหญ่วิสามัญ หรือในการรับเลือกตั้งเป็นกรรมการของหอการค้า
ข้อ 15 หน้าที่ของสมาชิก
15.1 ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ คำสั่งของหอการค้ามติของที่ประชุมใหญ่ มติของคณะกรรมการของหอการค้า และหน้าที่ของตนเองตามที่หอการค้าได้มอบหมายด้วยความซื่อสัตย์โดยเคร่งครัด
15.2 ดำรงรักษาเกียรติ และผลประโยชน์ส่วนได้เสีย ของหอการค้าตลอดจนต้องรักษาความลับในข้อประชุมหรือวิธีการของหอการค้า ห้ามเปิดเผยข้อความซึ่งอาจจะนำความเสียหายมาสู่หอการค้าโดยเด็ดขาด
15.3 ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของหอการค้าให้เจริญรุ่งเรืองและมีความก้าวหน้าอยู่เสมอ
15.4 ต้องรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีธรรมระหว่างสมาชิก และปฏิบัติกิจการค้า ในทำนองช่วยเหลือกัน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
15.5 ชำระค่าบำรุงให้แก่หอการค้าตามกำหนด 15.6 สมาชิกผู้ใดเปลี่ยนนาม นามสกุล สัญชาติ ย้ายที่อยู่ย้ายที่ตั้งสำนักงานเปลี่ยนแปลงประเภทวิสาหกิจหรือเปลี่ยนผู้แทนนิติบุคคลจะต้องแจ้งให้เลขาธิการหอการค้าทราบเป็นหนังสือภายใน เวลา 7 วัน นับแต่วันเปลี่ยนแปลง
หมวดที่ 5 ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิกและค่าบำรุงหอการค้า
ข้อ 16 ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิกและค่าบำรุงหอการค้า
16.1. สมาชิกสามัญประเภทนิติบุคคล ต้องชำระค่าลงทะเบียน 1,500 บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาทถ้วน) และค่าบำรุงหอการค้าปีละ 1,000 บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน)
16.2. สมาชิกสามัญประเภทบุคคลธรรมดา จะต้องชำระค่าลงทะเบียน 700 บาท (เจ็ดร้อยบาทถ้วน) และค่าบำรุงหอการค้าเป็นประจำปี ๆ ละ 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
16.3. สมาชิกวิสามัญ จะต้องชำระค่าลงทะเบียน 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน) และ ค่าบำรุงหอการค้าเป็นประจำปี ๆ 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
ในกรณีที่สมาชิก YEC สมัครสมาชิกตามข้อนี้ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าแต่ชำระค่าบำรุงหอการค้าราย 2 ปี จำนวน 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
16.4. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงอย่างใดทั้งสิ้น
ข้อ 17 ค่าบำรุงพิเศษ ที่ประชุมใหญ่สมาชิกอาจลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ให้กำหนดโครงการหรืองานอย่างใดอย่างหนึ่งที่หอการค้าลงมติกำหนดเงินเรียกเก็บจากสมาชิกสามัญเป็นคราวๆ เพื่อการนั้นได้
หมวดที่ 6 คณะกรรมการของหอการค้าจังหวัด
ข้อ 18 การเลือกตั้งคณะกรรมการหอการค้าให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เป็นผู้บริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหอการค้าในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ประกอบด้วยสมาชิกสามัญ ซึ่งที่ประชุมใหญ่เป็นผู้เลือกตั้ง และกำหนดจำนวนกรรมการตามความเหมาะสมแต่ต้องไม่น้อยกว่า 7 คน เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้น ๆ จะมีมติเป็นอย่างอื่นการเลือกตั้งกรรมการให้กระทำด้วยวิธีลงคะแนนลับโดยให้สมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญ หรือสมาชิกสมทบ เสนอนามของสมาชิกสามัญ ซึ่งตนประสงค์จะให้เข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการต่อที่ประชุมใหญ่ โดยมีสมาชิกสามัญอื่นรับรองไม่น้อยกว่า 2 คน และให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกให้ผู้รับคะแนนสูงตามลำดับได้เป็นกรรมการเท่าหรือไม่น้อยกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในวรรคแรกและตามมติที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้น ถ้ามีผู้ได้คะแนนเท่ากันในลำดับสุดท้ายที่จะได้เป็นกรรมการคราวนั้น ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติใหม่เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน หากปรากฏได้คะแนนเท่ากันอีกให้ใช้วิธีจับฉลาก ให้คณะกรรมการของหอการค้าเลือกกันเอง เพื่อดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้า 1 คน รองประธานหอการค้า 10 คน เลขาธิการหอการค้า รองเลขาธิการ เหรัญญิกหอการค้า นายทะเบียนหอการค้า ประชาสัมพันธ์หอการค้า ตำแหน่งละ 1 คนและตำแหน่งอื่น ๆ ที่จะกำหนดหน้าที่ตามที่เห็นสมควร คณะกรรมการของหอการค้าอยู่ในตำแหน่งกรรรมการได้คราวละ 2 ปี และให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารในเวลาไม่เกิน 45 วัน นับตั้งแต่วันครบวาระ ภายใต้ข้อบังคับแห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ.2509 มาตรา 26 หรือ 40 กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งกรรมการไปแล้วอาจได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการอีกได้ สมาชิกผู้หนึ่งผู้ใด จะได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการหอการค้าเกินกว่า 2 คราวติดต่อกันมิได้
ข้อ 19 การพ้นจากตำแหน่งกรรมการของหอการค้า ย่อมพ้นจากตำแหน่งกรรมการในกรณี ดังต่อไปนี้
19.1 ครบกำหนดออกตามวาระ
19.2 ลาออกโดยคณะกรรมการของหอการค้าได้ลงมติอนุมัติแล้วเว้นแต่การลาออก เฉพาะตำแหน่ง ในข้อ 18 วรรคสาม
19.3 พ้นจากการเป็นผู้แทนของสมาชิกซึ่งเป็นนิติบุคคล
19.4 ขาดจากสมาชิกภาพ
19.5 ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากการเป็นกรรมการ
19.6 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งให้ออกตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 19.7 ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ.2509 ในกรณีที่ผู้แทนสมาชิกซึ่งเป็นนิติบุคคลตามข้อ 11 ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการตาย หรือพ้นจากตำแหน่งผู้แทนใหม่ของสมาชิกรายนั้น ๆ จะเข้าแทนที่เป็นกรรมการแทนก็ได้
ข้อ 20 กรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบกำหนดวาระ ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระและวาระของกรรมการเหลือไม่น้อยกว่าสองเดือน ให้คณะกรรมการเลือกบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกสามัญตามข้อ 6.1 เข้าดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการแทน และให้บุคคลซึ่งเข้าเป็นกรรมการแทนนั้น อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
ข้อ 21 องค์ประชุมในการประชุมของคณะกรรมการของหอการค้า การประชุมของคณะกรรมการของหอการค้าจะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะนับว่าเป็นองค์ประชุม
ข้อ 22 มติของที่ประชุมคณะกรรมการของหอการค้า นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ในกรณีที่ประชุม คณะกรรมการของหอการค้าลงมติอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและหรือข้อบังคับนี้ให้ถือว่ามตินั้นใช้บังคับมิได้
ข้อ 23 ประธานในที่ประชุม ให้ประธานกรรมการหอการค้าเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการหอการค้าไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการหอการค้าผู้อาวุโสตามลำดับปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าทั้งประธานกรรมการหอการค้าและรองประธานกรรมการหอการค้าไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะในการประชุมคราวนั้น
ข้อ 24 การประชุมคณะกรรมการของหอการค้า ให้มีการประชุมกรรมการของหอการค้าอย่างน้อยสามเดือนต่อครั้ง อนึ่งในกรณีประธานกรรมการหอการค้า หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนหรือกรรมการรวมกันไม่น้อยกว่า 5 คนจะเรียกประชุมชุดพิเศษขึ้นก็ได้
ข้อ 25 การรับมอบงานของคณะกรรมการของหอการค้า เมื่อมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ แต่ละครั้ง ในกรณีครบวาระหรือคณะกรรมการชุดเดิมลาออกทั้งคณะ ให้คณะกรรมการของหอการค้าชุดใหม่ยื่นจดทะเบียนเป็นคณะกรรมการของหอการค้าต่อนายทะเบียนหอการค้าประจำจังหวัด ภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันยื่นจดทะเบียนเป็นกรรมการ หากว่ายังไม่มีการยื่นจดทะเบียนเป็นกรรมการชุดใหม่ตามความในวรรคก่อน ให้ถือว่าคณะกรรมการชุดเดิมเป็นคณะกรรมการหอการค้าอยู่เดิมตราบเท่าเวลานั้น
ข้อ 26 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการหอการค้า ให้คณะกรรมการของหอการค้ามีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
26.1 จัดดำเนินการและทรัพย์สินของหอการค้าให้เป็นไปตามข้อบังคับและมติที่ประชุม
26.2 เลือกตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการหอการค้า
26.3 วางระเบียบการในการปฏิบัติงานของหอการค้าให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
26.4 ว่าจ้างแต่งตั้งและถอดถอนที่ปรึกษาของคณะกรรมการของหอการค้า อนุกรรมการหอการค้า เจ้าหน้าที่ และพนักงานทั้งปวง ให้การทำกิจการเฉพาะอย่าง หรือพิจารณาเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในขอบเขตหน้าที่ของหอการค้า เพื่อให้การดำเนินงานของหอการค้าเป็นไปโดยเรียบร้อย โดยอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการของหอการค้า ที่ปรึกษาของคณะกรรมการของหอการค้า อนุกรรมการของหอการค้าจะแต่งตั้งจากกรรมการหรือสมาชิกของหอการค้า หรือบุคคลภายนอกก็ได้
ข้อ 27 อำนาจหน้าที่กรรมการของหอการค้าในตำแหน่งต่าง ๆ อำนาจหน้าที่ของกรรมการของหอการค้าในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้
27.1 ประธานกรรมการหอการค้า มีหน้าที่อำนวยงานเพื่อให้การดำเนินกิจการของหอการค้าเป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบการให้การปฏิบัติงานของหอการค้า เป็นผู้แทนของหอการค้าในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และเป็นประธานในที่ประชุมของคณะกรรมการของหอการค้า ตลอดจนในที่ประชุมใหญ่สมาชิก
27.2 รองประธานกรรมการหอการค้า มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือประธานหอการค้าในกิจการทั้งปวงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการหอการค้า และเป็นผู้ทำการแทนประธานกรรมการหอการค้าเมื่อประธานกรรมการหอการค้าไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
27.3 เลขาธิการหอการค้า มีหน้าที่ทำการโต้ตอบหนังสือเก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ของหอการค้า เป็นเลขาธิการในที่ประชุมคณะกรรมการหอการค้าและที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการของหอการค้าจะได้มอบหมาย
27.4 เหรัญญิกหอการค้า มีหน้าที่รักษาและจ่ายเงินของหอการค้า ทำบัญชีการเงิน หรือรักษาและจ่ายพัสดุของหอการค้า ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการของหอการค้าจะได้
27.5 นายทะเบียนหอการค้า มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนสมาชิกและทะเบียนต่าง ๆ อันมิใช่ทะเบียนเกี่ยวกับการเงินของหอการค้าตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการของหอการค้าจะได้มอบหมาย
27.6 ปฏิคมหอการค้า มีหน้าที่ต้อนรับรักษาสำนักงานของหอการค้า รักษาความเรียบร้อยของสถานที่ รักษาสมุดเยี่ยม จัดสถานที่ประชุม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการของหอการค้าจะได้มอบหมาย
27.7 ประชาสัมพันธ์หอการค้า มีหน้าที่เกี่ยวกับการโฆษณาเชิญชวนหาสมาชิกโฆษณากิจการและผลงานด้านต่าง ๆ ของหอการค้า ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการของหอการค้าจะได้มอบหมาย
ข้อ 28 ภายใต้บังคับแห่งความในหมวดนี้ ให้นำความในหมวดที่ 7 การประชุมใหญ่มาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่
ข้อ 29 การประชุมใหญ่ การประชุมใหญ่ หมายถึง การประชุมสมาชิกของหอการค้าแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
29.1 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี คือ การประชุมใหญ่ที่จะต้องให้มีขึ้นครั้งหนึ่ง ทุกระยะเวลา 12 เดือน
29.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ คือ การประชุมใหญ่ครั้งอื่น ๆ นอกจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมสมาชิกประจำเดือน
ข้อ 30 กำหนดการประชุมใหญ่ กำหนดการประชุมใหญ่มีดังนี้
30.1 ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ไม่เกินเดือนเมษายนของทุกปี และไม่เกิน 120 วัน นับแต่วันสิ้นปีการบัญชีของหอการค้า
30.2 ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการของหอการค้ามีมติเห็นสมควร หรือสมาชิก มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด แสดงความจำนงที่จะต้องให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญโดยทำการร้องขอ เป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขาธิการของหอการค้าหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการ ให้คณะกรรมการของหอการค้านัดประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ลงมติหรือวันที่ได้รับหนังสือ คำร้องขอหนังสือบอกกล่าวจะต้องระบุข้อความแจ้งเหตุเพื่อการใดที่จะขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญนี้ด้วย
ข้อ 31 การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุม คณะกรรมการของหอการค้า จะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวถึงวัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุมใหญ่ไปให้สมาชิกทุกคนได้ทราบโดยส่งจดหมายทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ณ ที่อยู่ของสมาชิกที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนหรือส่งให้ถึงตัวสมาชิกก่อนกำหนดวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 7 วัน
ข้อ 32 องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ ในการประชุมใหญ่ของหอการค้าจะต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่น้อยกว่าจำนวน 80 สมาชิกสามัญทั้งหมดจึงจะถือเป็นองค์ประชุม และหากสมาชิกผู้ใด ไม่สามารถมาประชุมด้วยตนเองได้ อาจมอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าประชุมแทนได้ โดยต้องทำเป็นหนังสือมอบอำนาจ และบุคคลเดียวกันจะเป็นผู้แทนที่มีอำนาจเต็มของสมาชิกเกิน 1 รายมิได้
ข้อ 33 กรณีที่การประชุมในครั้งแรกสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม การประชุมใหญ่ที่ได้เรียกนัดประชุมวันและเวลาใด หากล่วงเลยพ้นกำหนดนัดไปแล้ว 1 ชั่วโมง ยังมีสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมคราวนั้นได้เลื่อนนัดเพราะสมาชิกร้องขอให้เลิกประชุม ถ้ามิใช่เพราะสมาชิกร้องขอให้เลื่อนการประชุมคราวนั้นไป และให้ทำการบอกกล่าวนัดประชุมวัน เวลา และสถานที่ประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันประชุมใหญ่คราวแรก ในการประชุมใหญ่คราวหลังนี้จะมีสมาชิกมากน้อยเพียงใด ก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม
ข้อ 34 ประธานในที่ประชุม ให้ประธานกรรมการหอการค้าเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ ถ้าประธานกรรมการหอการค้าไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานหอการค้าผู้อาวุโสตามลำดับ ทำหน้าที่แทน ถ้าทั้งประธานกรรมการหอการค้าและรองประธานหอการค้าไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีกรรมการอยู่ในที่ประชุมเลยให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกสามัญคนหนึ่งคนใดขึ้นมาเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ข้อ 35 วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนและสมาชิกสามัญคนหนึ่งๆ มีคะแนนเสียงหนึ่งเสียง การออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ให้ถือปฏิบัติเป็น 2 กรณี คือ 1. โดยวิธีเปิดเผย ให้ใช้วิธีชูมือ 2. โดยวิธีลงคะแนนลับให้ใช้วิธีเขียนบัตรลงคะแนน และจะกระทำได้เมื่อคณะกรรมการของหอการค้าเห็นสมควร หรือสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมร้องขอ
ข้อ 36 มติของที่ประชุมใหญ่ นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งชี้ขาด
ข้อ 37 กิจการอันพึงกระทำ ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีมีดังนี้
37.1 รับรองรายงานการประชุมคราวก่อน
37.2 พิจารณารายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินการของหอการค้าที่ผ่านมาในรอบปี
37.3 พิจารณาอนุมัติงบดุล
37.4 เลือกตั้งคณะกรรมการของหอการค้า (ในปีที่ครบกำหนด)
37.5 เลือกตั้งที่ปรึกษาของหอการค้าประจำปี ผู้สอบบัญชีของหอการค้าประจำปีและกำหนดค่าตอบแทน
37.6 เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)
ข้อ 38 กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่วิสามัญ กิจการอันพึงกระทำในการประชุมใหญ่วิสามัญนั้นได้แก่ กิจการที่จะกระทำโดยอาศัยมติจากที่ประชุมใหญ่ แต่ไม่อาจหรือมีเหตุทำให้ไม่สามารถจัดทำได้ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี
ข้อ 39 กิจการอันพึงกระทำในการประชุมสมาชิกประจำเดือน กิจการอันพึงกระทำในการประชุมสมาชิกประจำเดือนนั้น ได้แก่กิจการอันเกี่ยวกับการปฏิบัติธุรกิจทั่วไปของหอการค้า นอกจากกิจการที่จำเป็นจะต้องกระทำได้โดยการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 40 การจัดทำรายงานบันทึกประชุม รายงานการประชุมคณะกรรมการของหอการค้า การประชุมใหญ่สมาชิก และการประชุมสมาชิกอื่น ๆ หรือการประชุมอนุกรรมการของหอการค้าให้จดบันทึกไว้ทุกครั้งและต้องเสนอต่อที่ประชุมเพื่อรับรองในคราวที่มีการประชุมครั้งต่อไป รายงานการประชุมที่ผ่านการรับรองแล้วสมาชิกจะดูได้ในวันและเวลาทำการ
หมวดที่ 8 การเงิน เงินทุนพิเศษ และการบัญชีของหอการค้า
ข้อ 41 การจัดทำงบดุล ให้คณะกรรมการของหอการค้า จัดทำงบดุลปีละครั้ง แล้วส่งให้ผู้สอบบัญชีไม่เกินเดือนมกราคมของทุกปี
ข้อ 42 ปีการบัญชี ให้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสิ้นปีการบัญชีของหอการค้า
ข้อ 43 อำนาจของผู้สอบบัญชี ผู้สอบบัญชีซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งมีอำนาจเข้าตรวจสอบสมุดบัญชีและบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของหอการค้า และมีสิทธิสอบถามกรรมการตลอดจนเจ้าหน้าที่ของหอการค้าทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและเอกสารดังกล่าว ในการนี้กรรมการและเจ้าหน้าที่จะต้องช่วยเหลือและให้ความสะดวกทุกประการเพื่อการตรวจสอบเช่นว่านั้น
ข้อ 44 การเก็บรักษาสมุดบัญชีและเอกสารการเงิน สมุดบัญชีและเอกสารการเงินของหอการค้าจำต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานหอการค้า และให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเหรัญญิกหอการค้า
ข้อ 45 การเงินหอการค้า เงินสดของหอการค้าจะต้องนำไปฝากไว้ ณ ธนาคารพาณิชย์แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดซึ่งหอการค้านี้ตั้งอยู่ ในนามของหอการค้า โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ ให้มีเงินทดลองจ่ายเกี่ยวกับกิจการของหอการค้าไม่เกินวงเงิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาท) ในการนี้เหรัญญิกหอการค้าเป็นผู้รับผิดชอบและเก็บรักษาตัวเงิน การฝากและการถอนเงิน จากธนาคารให้อยู่ในอำนาจของประธานกรรมการหอการค้า หรือรองประธานกรรมการหอการค้า หรือกรรมการคนใดคนหนึ่งโดยมติที่ประชุมคณะกรรมการของหอการค้าลงนามร่วมกับเหรัญญิกหอการค้า
ข้อ 46 การจ่ายเงินของหอการค้า ในการจ่ายเงินของหอการค้าครั้งละเกินกว่า 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท) ให้กระทำโดยมติจากที่ประชุมคณะกรรมการของหอการค้าทุกครั้งไป ให้ประธานกรรมการหอการค้า รองประธานกรรมการหอการค้า หรือเลขาธิการหอการค้าคนใดคนหนึ่งมีอำนาจสั่งจ่ายเงินเกี่ยวกับกิจการของหอการค้าได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท)
ข้อ 47 เงินทุนพิเศษ หอการค้าจังหวัดสงขลา อาจหาเงินทุนพิเศษเพื่อนำมาดำเนินกิจการและส่งเสริมความก้าวหน้าของหอการค้าได้โดยการเชื้อเชิญบุคคลภายนอกและสมาชิกร่วมกันบริจาค หรือกระทำการอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรและไม่ขัดต่อกฎหมาย
หมวดที่ 9 การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกหอการค้า และการชำระบัญชี
ข้อ 48 การแก้ไข เปลี่ยนแปลงตัดทอน หรือเพิ่มเติมข้อบังคับ ข้อบังคับนี้จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัดทอน หรือเพิ่มเติมได้ ก็แต่จะกระทำโดยมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุม
ข้อ 49 การเลิกหอการค้า หอการค้านี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดต่อไปนี้
49.1 เมื่อที่ประชุมใหญ่ ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
49.2 เมื่อล้มละลาย
49.3 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งให้เลิกตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509
ข้อ 50 การชำระบัญชี เมื่อหอการค้าต้องเลิกไปเพราะเหตุหนึ่งเหตุใดในข้อ 49 การชำระบัญชีของหอการค้า ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ.2509 มาใช้บังคับ ในกรณีหอการค้าต้องเลิกไปตาม ข้อ 49.1 ให้ที่ประชุมใหญ่คราวนั้นลงมติเลือกตั้งกำหนดตัวผู้ชำระบัญชีเสียด้วยและหากต้องเลิกไปตาม ข้อ 49.3 ให้คณะกรรมการทุกคนในคณะกรรมการของหอการค้าชุดสุดท้ายที่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมการของหอการค้า ต่อนายทะเบียนหอการค้าประจำจังหวัดสงขลาเป็นผู้ชำระบัญชี หากทรัพย์สินของหอการค้าเหลือจากการชำระบัญชีให้ยกให้แก่นิติบุคคลในประเทศไทยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใด หรือหลายแห่งตามมติที่ประชุมใหญ่
หมวดที่10 บทความเฉพาะกาล
ข้อ 51. เมื่อนายทะเบียนหอการค้าประจำจังหวัดสงขลา ได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นหอการค้าและให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งทั้ง 10 คน ทำหน้าที่คณะกรรมการ (ชั่วคราว) ของหอการค้าจนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการของหอการค้าตามข้อบังคับนี้ ซึ่งจะต้องจัดให้มีขึ้นภายในกำหนดเวลา 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นหอการค้าแล้ว ภายใต้บังคับแห่งความวรรคแรก กรณีที่มีการประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการของหอการค้าชุดแรกในช่วงเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน นับแต่วันสิ้นปีการบัญชีของหอการค้า ให้ถือเอาวันสิ้นปีการบัญชีของหอการค้าเป็นวันตั้งต้นคำนวณเวลาวาระการตามข้อ 18 วรรคสี่
ข้อ 52 เพื่อประโยชน์แห่งความในบังคับข้อ 8 ให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งทั้ง 10 คน ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสามัญ
ข้อ 53 ให้ใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนหอการค้าประจำจังหวัดสงขลาได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นหอการค้าเป็นต้นไป
หอการค้าจังหวัดสงขลา
The Songkhla Chamber of Commerce
29 ถ.โชติวิทยะกุล4 ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110
จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 17.00 น.